
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ตื่นนอนและเข้านอนไปพร้อมกับคุณ ทว่าในช่วงที่ผ่านมา มีความชัดเจนแล้วว่าไม่ได้มีแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่อุปกรณ์อย่างนาฬิกาอัจฉริยะ ฟิตเนสแทรกเกอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์สวมใส่ประเภทอื่น ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของแหวน หรือแว่นตา กำลังเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก
ตัวเลขยอดการส่งออกของอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) ในไตรมาสแรกของปี 2021 กลายเป็นตัวเลขที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะยอดการส่งออกสามารถทำได้มากถึง 104.6 ล้านชิ้น จากการเปิดเผยของบริษัทวิจัยข้อมูล International Data Corporation หรือ IDC
ทั้งนี้ ตัวเลข 104.6 ล้านชิ้น ถือว่ามากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 34.4 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยอดการจัดส่งดังกล่าว ถูกขับเคลื่อนด้วยผู้ผลิตที่มาจากแบรนด์เล็กๆ อย่าง BoAT หรือ Oura ซึ่งในรายของ BoAT เน้นการทำตลาดในประเทศอินเดีย และเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ใช้กับหู และ Oura เป็นแหวน ที่เอาไว้ติดตามพฤติกรรมและรายงานสภาพร่างกาย โดยมักนิยมใช้ในหมู่นักกีฬาอาชีพ

ประเด็นข้างต้นทำให้เราเห็นได้ว่า ผู้ผลิตแบรนด์เล็กๆ เหล่านี้ เลือกที่จะไม่เผชิญหน้ากับ Apple Watch หรือ Samsung Galaxy Watch เพราะคำตอบเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า แข่งไปก็สู้ไม่ได้
ดังนั้นแล้ว ทางออกของพวกเขาคือตีโจทย์โดยเลือกทำตลาดเฉพาะทางไปเลย และผลตอบรับของผู้บริโภคก็ดูจะให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ทำให้โจทย์ข้อนี้ ถูกตีโจทย์ให้แตกเรียบร้อยแล้วว่า ถ้าหากต้องการสู้กับแบรนด์ใหญ่ แล้วชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อยแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำอย่างไร
ประเด็นที่ทำให้อุปกรณ์สวมใส่ได้รับความนิยมมากที่สุด สาเหตุสำคัญมาจากการชูประเด็นสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเทรนด์สำคัญของโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
อุปกรณ์เหล่านี้ สามารถบอกได้ว่า วันนี้คุณย่างก้าวออกจากบ้านไปแล้วเป็นจำนวนกี่ก้าว อัตราการเต้นของหัวใจของคุณเป็นอย่างไร ค่าความอิ่มของออกซิเจนในเลือดยังดีอยู่หรือไม่ การเผาผลาญแคลอรีทำได้ดีแค่ไหน

อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากตัวเลขที่บ่งบอกค่าต่างๆ ภายในร่างกายของคุณ นั่นคือ ข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่เรายินยอมให้ไปผ่านอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ นั้น มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน
เป็นความจริงอยู่ว่า ตัวเลขอัตราการเต้นของหัวใจ หรือค่าออกซิเจนในเลือด จะไม่ได้บ่งบอกถึงข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญนัก แต่ต้องไม่ลืมว่า หากอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถเชื่อมต่อกับ GPS ได้ นั่นหมายความว่า เส้นทางการเดินทางของคุณ สามารถถูกสะกดรอยได้เช่นกัน
ดังนั้นแล้ว ผู้ไม่หวังดีมีโอกาสที่จะนำข้อมูลดังกล่าวย้อนรอยกลับไปดู แล้วคาดการณ์ว่าตัวคุณจะอยู่ที่ไหนในช่วงเวลานั้นๆ และจะเป็นอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากคุณแชร์เส้นทางการเดินหรือวิ่งลงสู่โซเชียลมีเดีย และเปิดเผยเป็นสาธารณะ
สิ่งที่ต้องคิดเป็นอย่างต่อมา นั่นคือ ข้อตกลงในการใช้งาน เพื่อให้ทราบว่า ขณะที่ใช้งานอยู่นั้น ผู้ให้บริการหรือผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่เก็บข้อมูลใดจากคุณไปบ้าง เก็บเอาไว้นานแค่ไหน ข้อมูลนั้นจะถูกนำไปทำอะไรบ้าง แล้วมีการส่งข้อมูลต่อไปยังบุคคลที่สาม (Third party) ด้วยหรือไม่

แน่นอนว่า ถ้าหากมีข้อคลางแคลงใจ สิ่งที่ต้องทำหลังจาก คือหยุดการใช้งาน แล้วประเมินว่า จะส่งมอบข้อมูลการใช้งานเหล่านั้นหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ที่ไม่สามารถตรวจจับการนอนได้ แต่มีการขอสิทธิ์การเข้าถึงไมโครโฟน ก็ต้องปฏิเสธการให้ข้อมูลไป
พร้อมกันนี้ ควรตั้งค่า Two-factor Authentication (2FA) หรือการยืนยันตัวตนสองชั้น โดยที่รหัสจะถูกส่งไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อถือได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยสร้างความปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์อย่าง Apple Watch ก็มี 2FA โดยทำงานผ่าน iCloud เพื่อยืนยันตัวตน
สุดท้ายการนำอุปกรณ์สวมใส่เข้ามาใช้งาน ทั้งในแง่ของการออกกำลังกาย หรือตรวจวัดค่าต่างๆ ภายในร่างกาย ยังมีผู้ใช้งานจำนวนมากนำไปใช้โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขจากอุปกรณ์เหล่านี้ มีความคลาดเคลื่อน เพราะมันไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นแต่เพียงตัวเลขที่บ่งบอกถึงร่างกายโดยกว้างๆ ของเราเท่านั้น.
อ้างอิง
IDC: Smaller Companies Fuel Growth in Worldwide Wearables Market in 1Q21
USA Today: Doctors say most metrics provided by your Apple Watch, Fitbit aren’t helpful to them
The Verge: How to make sure your fitness trackers are secure
4,421 , 3