หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง

หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง
บันทึเปิดยุทธการเจ็ดวันดาวกระจาย “ปฏิบัติการแพทย์ชนบทกู้ภัยโควิดกรุงเทพมหานคร” อันเกิดจากพลังเล็กๆของ “หมอและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ” ที่ร่วมกันเป็นหนึ่งลุยบริการสุขภาพแบบวันสต็อปเซอร์วิส ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้รหัสทีมหมอชนบทบุกกรุง#3
หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง
อันเป็นเสมือน “หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็ว” ให้บริการเคาะประตูบ้านตรวจหาโควิด-19 ถ้าเจอผู้ป่วยติดเชื้อทำการวินิจฉัยรักษาด้วย “การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และฟ้าทะลายโจร” หากอาการไม่ดีขึ้น 5 วัน เร่งนำตัวเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาลรัฐทันที
นับเป็นภารกิจสามารถตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อสีเขียวรวดเร็วลดป่วยหนักถูกจุดอุดช่องว่างลดความทุกข์ของประชาชนเร็วทันใจ ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัยโควิดนี้ได้รับความชื่นชมจากคนไทยล้นหลามในเวลาต่อมา
จุดเริ่มต้นทีมแพทย์ชนบทบุกกรุงกู้ภัยโควิดนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าว่า แนวคิดนี้มาจาก “ความทุกข์ยากพี่น้องเมืองหลวง” ที่ไม่สามารถเข้าถึงการคัดกรองได้จนมีภาพ “ผู้คนต่อแถวรอตรวจโควิดฟรียาวเหยียด” ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ สร้างความสะเทือนใจคนไทยทั้งชาติมาแล้ว
หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง

ทั้งยังมีเหตุ “ผู้ป่วยนอนตายที่บ้านแทบทุกวัน” จากสภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาลที่ส่งผลให้ “แพทย์ในกรุงเทพฯ” ต่างทำงานหนักมาก ดังนั้น “แพทย์ชนบท” มีจุดมุ่งหมายเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระตรวจคัดกรองเชิงรุกหาคนติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ตัวเองแล้วเข้าสู่กระบวนการรักษาตัวโดยเร็ว

ปฏิบัติการตรวจเชิงรุกนี้เป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. มีทีมแพทย์ 40 ทีม ราว 400 ชีวิต แต่ละทีมมีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ มีภารกิจ 4 ด้านหลัก คือ 1.ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทราบใน 30 นาที 2.ตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในชุมชนมาตรวจเพิ่มเติม

ภารกิจที่ 3.กรณี ATK ผลบวกจะประเมินความรุนแรงโดยแพทย์แล้วจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาฟ้าทะลายโจร 4.ฉีดวัคซีนในรายมีผลตรวจเป็นลบ และกลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

ทว่า…“ปฏิบัติการกู้ภัยโควิดครั้งที่ 3” มีความสำคัญในการพัฒนา “โมเดลตรวจเร็วเจอเชื้อรักษาทันที” ด้วยการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ หรือจ่ายยาฟ้าทะลายโจรแล้วแต่กรณีตามอาการผู้ป่วยนั้น อันเกิดจากเก็บข้อมูลปฏิบัติการครั้งที่ 1, 2 เน้นตรวจค้นกรองหาเชื้อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนแล้วนำข้อมูลมาพัฒนาต่อยอดได้

กลายเป็นตัวช่วยชุมชนเมืองลดอัตรา “ผู้ติดเชื้ออาการน้อยไม่ลุกลามเป็นผู้ป่วยหนักเชื้อลงปอด” ที่ไม่ไปสู่การพึ่งพาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ทั้งยังลดการเสียชีวิตที่บ้านน้อยลงด้วย ในส่วน “กลุ่มเสี่ยง 7 โรค…ผู้สูงอายุ” ถ้าเจอทำการฉีดวัคซีนให้ทันทีเสมือนบริการสุขภาพในโรงพยาบาลวันสต็อปเซอร์วิสในหนึ่งวันจบ

ประเด็นมีอยู่ว่า…“ยาฟาวิพิราเวียร์” สถานการณ์นี้หายากขาดแคลนจนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็น “ยาเทวดา” ต้องจ่ายยาเฉพาะ “คนไข้หนัก” แต่เราต้องทำลายข้อจำกัดยาหายากนี้ไป ด้วยเพราะโรงพยาบาลไม่เพียงพอรองรับแม้ “คนไข้สีแดง” ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงสถานพยาบาลสิ่งที่ทำได้ตอนนี้จำเป็นต้องเร่งจ่ายยาเร็วที่สุด

หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง

ปฏิบัติการพิเศษครั้งนี้ใช้หลัก “จ่ายยาเร็วตัดวงจรอาการป่วยหนัก” เพื่อหยุดวงจรการเปลี่ยนสีจากผู้ป่วยสีเขียวไม่เป็นสีเหลือง สีแดง…“คนติดเชื้อโควิด” มีอาการหรือไม่มีอาการก็แล้วแต่ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้รับบริการสุขภาพที่ดี ยกเว้น “คนไข้อาการดีขึ้น” เช่น คนหนุ่มสาวติดเชื้อไม่มีอาการก็ไม่ได้รับยานี้

ย้ำว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์หายากขาดแคลนจริง” เป็นภารกิจกระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหานี้เช่น “องค์การเภสัชกรรม” อาจเร่งนำเข้าเคมีสารตั้งต้นนำมาผลิตอัดเม็ดยามากขึ้นหากผลิตไม่ทันความต้องการก็นำเข้าจากต่างประเทศได้ แต่โชคดีไม่ปรากฏว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์หมดประเทศ” ที่ไม่อาจยอมให้เกิดเช่นนั้นได้

ดังนั้นการจ่ายยาให้ “คนไข้” ต้องตรงตามมาตรฐานทางการแพทย์โดยเคร่งครัด “ผู้ป่วยต้องรับยากินครบเต็มโดส” ที่จะไม่สามารถจ่ายยาให้แบบครึ่งๆ กลางๆได้ เท่าที่ติดตามผลหลังคนไข้รับยาแล้วก็ใช้เวลา 5 วัน อาการมักดีขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าเกินกว่านี้อาการไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด่วน

ทว่าหลักๆแล้ว…“ผู้ป่วยรับยา” มักมีอาการดีขึ้นสามารถช่วยเหลือชีวิตผู้คนได้ค่อนข้างมาก ในปฏิบัติการครั้งที่ 3 ผู้เข้ารับการตรวจแบบ ATK 145,566 คน มีผลบวก 16,186 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.1 ส่งตรวจ RT-PCR 15,562 คน เป็นผู้ป่วยสีแดง 331 คน สีเหลือง 4,639 คน และผู้ป่วยสีเขียว 11,216 คน

ผู้ป่วยรับยาฟาวิพิราเวียร์ 9,343 คน รวมจ่ายไป 467,150 เม็ด และรับยาฟ้าทะลายโจร 3,614 คน ผลตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ผลบวกจริงร้อยละ 99.42 ผลบวกลวงเพียงร้อยละ 0.58 ทั้งยังฉีดวัคซีนเข็มแรก 7,761 คน ในส่วน “ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2” ตกลงกับ กทม. ในการรับภารกิจนี้ต่อดำเนินการฉีดอีก 3 เดือนข้างหน้า

“ปฏิบัติการครั้งนี้เรามาในนามกระทรวงสาธารณสุขและ สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่งเกี่ยวกับ “ยาฟาวิพิราเวียร์และวัคซีนโควิด” ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดี”

หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง

นพ.สุภัทร สะท้อนปัญหาที่พบต่อว่า “คนจนเขต กทม.” เป็นบุคคลขาดโอกาสมาก โดยเฉพาะ “กลุ่มเสี่ยงเปราะบาง” ทั้งผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง คนพิการผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงไม่อาจออกบ้านได้ เพราะไม่มีเงินรายได้ ทำให้ขาดการรับวัคซีนเมื่อคนในบ้านติดเชื้อแล้วไม่ได้ตรวจคัดกรองจนเกิดระบาดในครอบครัว

การตรวจเชิงรุกเข้าไปในชุมชนทำให้ “ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มเปราะบาง” ได้ตรวจคัดกรอง…ฉีดวัคซีนถึงที่บ้าน เพราะแม้มี “มาตรการตั้งรับตั้งจุดตรวจ” ก็สามารถเข้าถึงเฉพาะกลุ่มมีกำลังเดินทางได้เท่านั้น

ความจริงแล้ว “สังคมไทยมีผู้ด้อยโอกาสอยู่มาก” ไม่ว่าจะเป็นคนไม่มีทะเบียนบ้านใน กทม. แรงงานต่างด้าวก็มี ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อแล้วไม่สามารถออกไปรักษาด้วยซ้ำ…“แพทย์ชนบท” มีหน้าที่เข้ามาช่วยเสริมช่องว่างตรงนี้ให้ทุกคนได้เข้าถึงการตรวจเชิงรุก เข้าถึงยารักษา และรับวัคซีนกันรวดเร็วเท่าเทียมกัน

เรื่องนี้ต้อง “ขอบคุณภาคประชาชนในพื้นที่ กทม.” เป็นผู้ทำหน้าที่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย พร้อมจัดการสถานที่ ดำเนินการลงทะเบียนจัดคิวและ นัดชาวบ้านให้ออกมาตรวจคัดกรองกันเสมือน “ผู้ทำหน้าที่พ่อบ้าน” ถ้าเป็น เฉพาะ “แพทย์ชนบท” คงไม่สามารถทำได้ เพราะแค่ขับรถในกรุงเทพฯก็หลงทางกันแล้ว

ประการต่อมายอมรับว่า “ระบบโฮมไอโซเลชัน” เป็นทางเลือกสุดท้ายต่อ “การกักตัวรักษาที่บ้าน” เพราะระบบในโรงพยาบาลเต็ม แต่ความจริง “ระบบโฮมไอโซเลชันของคนชุมชนแออัด” มีข้อจำกัดมาก ทำให้เป็นปัจจัยการระบาดในชุมชนกรุงเทพฯ ดังนั้นทุกชุมชนต้องมี “ศูนย์พักคอย” รองรับผู้ติดเชื้อเข้ารักษาห่างออกชุมชน เท่าที่เห็นระบบนี้ในเขต กทม. มีน้อย และสามารถพัฒนาด้วยการใช้โรงเรียนเป็นศูนย์พักคอยก็ได้

ตอกย้ำ “ปฏิบัติการกู้ภัยโควิดเป็นความหวังของประชาชน” สังเกตจากเมื่อทราบว่า “ทีมแพทย์ชนบท” ลงพื้นที่ใดผู้คนมานั่งอย่างอดทนตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเย็นมืดค่ำ เพื่อรับบริการตรวจคัดกรองทั้งยังมีหลายชุมชนร้องขอให้เข้าไปตรวจเชิงรุกต่ออีก แต่ด้วยครบกำหนด 7 วันแล้วจำต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตัวเองดังเดิม

หมอชนบทสู้โควิด ภารกิจ 7 วันบุกกรุง

สิ่งสำคัญ “แพทย์ชนบท” อาสาเข้ามาช่วยกู้วิกฤติกรุงเทพฯต้องบริหารพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองให้ดีเรียบร้อยก่อน เพราะถ้าพื้นที่เขตความรับผิดชอบมีการระบาดหนักอยู่ ก็ไม่อาจอาสาช่วยปฏิบัติการครั้งนี้ได้

สุดท้ายนี้ตลอดเวลาปฏิบัติการตรวจเชิงรุกเผชิญความลำบากมากมาย ยืนทั้งวัน อากาศร้อนอบอ้าว เหนื่อยแสนสาหัส เมื่อได้เห็น “สายตาผู้คน…รอยยิ้มจากชาวบ้าน” ก็เป็นเสมือนกำลังใจสำคัญแห่งพลังในการช่วยเหลือประชาชน ตามที่ครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนมาให้ใช้ความรู้ที่มีอยู่ออกไปช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น

แนวคิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วนี้ยังคงมีต่อไป แต่การระดมกำลังจากภูมิภาคมาช่วยกันเช่นนี้จะมีอีกหรือไม่นั้นคงพิจารณาอีกครั้งตามสถานการณ์การระบาด หากเป็นไปได้อยากให้ “กทม.” เจ้าของพื้นที่จัดการด้วยตัวเองจะเกิดความยั่งยืนที่สุด ส่วน “รัฐบาล” ต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอที่จะเป็นทางรอดคนไทย

นี่คือภาพสะท้อน “โมเดลภารกิจกู้ภัยโควิด” ที่เกิดจากพลังชมรมแพทย์ชนบท สธ. กทม. และภาคประชาสังคม ในการควบคุมสถานการณ์การระบาดเชื้อโรคร้ายในพื้นที่เป็นไปได้จริง.

SOURCE : https://www.thairath.co.th/

 10,901 ,  4 

No Comments Yet

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

Siam Scope Magazine