ที่อยู่อาศัยคงค้าง 1.77 แสนหน่วย ฟันธงปี 60 ทรงตัวต่อเนื่อง

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2560 ในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงชะลอตัว โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ว่ามูลค่าตลาดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.98 แสนล้านบาท จากมูลค่าโครงการปีละประมาณ 3.3-3.5 แสนล้านบาท แต่จากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ปัจจัยท้าทายผู้ประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ ด้านแรงงาน ดอกเบี้ย และหนี้ครัวเรือน ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงทรงตัวต่อเนื่อง

ที่อยู่อาศัยคงค้าง 1.77 แสนหน่วย ฟันธงปี 60 ทรงตัวต่อเนื่อง

ที่อยู่อาศัยคงค้าง 1.77 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น 8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะทรงตัวจากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยผู้ประกอบการน่าจะยังรอจังหวะตลาดฟื้นตัว เพื่อลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยอย่างระมัดระวัง
จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2559 ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนของการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 น่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับปี 2559 ส่งผลให้ระยะเวลาดูดซับที่อยู่อาศัยคงค้างยาวนานขึ้น โดยคาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 170,000-177,000 หน่วย ขยายตัว 4-8% เมื่อเทียบกับปี 2559

สำหรับการลงทุนและการซื้อขายที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่สามารถปรับราคาขายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงการระบายที่อยู่อาศัยคงค้างกลุ่มคอนโดมิเนียมในทำเลที่ไม่ใช่พื้นที่หลักทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว อาจเป็นไปได้ช้า

ครึ่งปีหลัง โจทย์ยากผู้พัฒนาอสังหาฯ
จากจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้โจทย์ความท้าทายในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 น่าจะเป็นการระบายที่อยู่อาศัยคงค้าง ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่าจะปรับกลยุทธ์นำเสนอที่อยู่อาศัยคงค้างไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติ โดยโครงการที่อยู่อาศัยที่สามารถปรับรูปแบบให้รองรับการอยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายกลุ่มได้ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้สูง เช่น โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการที่มีหน่วยเหลือขายจำนวนมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในระยะต่อไป เช่น ประเด็นท้าทายด้านแรงงาน จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับสูง ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น ในขณะที่ ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ

คอนโดฯ หรู เปิดใหม่ ปีนี้ไม่เกิน 7,000 ยูนิต
ด้านบริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด คาดการณ์ว่า ในปี 2560 จะมีคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ เปิดใหม่ในกรุงเทพฯ ไม่เกิน 7,000 ยูนิต ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี นับจากปี 2558 ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 8,000-9,000 ยูนิต

โดยอุปทานเหลือขายสะสมทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ ระหว่างปี 2558-2560 อยู่ที่ 11,000 ยูนิต แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ระดับราคา 30-100 ล้านบาท ย่านใจกลางเมืองสุขุมวิท สาทร สีลม ลุมพินี และรัศมีห่างไม่เกินจากบริเวณดังกล่าว 5 กิโลเมตร มีจำนวน 283 ยูนิต ส่วนรัศมีรอบนอกหรือชานเมืองอีก 1,500 ยูนิต ส่วนโครงการคอนโดระดับราคา 1.5-3 แสนบาทต่อตารางเมตร มีอุปทานเหลือขายสะสมจำนวน 9,000 ยูนิต

เฝ้าระวังดีมานด์เทียม-ฟองสบู่
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้มีคอนโดมิเนียมเริ่มทยอยโอน ซึ่งเป็นผลจากการขายเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือคอนโดมิเนียมหรู ราคา 2 แสนบาทต่อตารางเมตรขึ้นไป เพราะเริ่มมีสัญญาณเทียมให้เห็นบ้างแล้ว มีการซื้อเพื่อการเก็งกำไรมากขึ้น ส่งสัญญาณภาวะฟองสบู่ในบางโครงการและบางทำเล แต่ปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ ที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างมากมีบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แล้ว ทำให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเตือนภัยอุตสาหกรรม โดยเป็นข้อมูลที่เข้าถึง และนำมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจได้ ส่วนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เชื่อว่าภาวะเกิดฟองสบู่ทั้งตลาดจะเกิดขึ้นได้ยาก

งานนี้คงต้องจับตาดูว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงทรงตัวต่อเนื่องดังที่กูรูฟันธงไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ถือเป็นความท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปิดการขายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

เครดิต: ddproperty.com

 5,536 ,  3 

No Comments Yet

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

Siam Scope Magazine