จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายหากคุณสะพายกระเป๋าหนักเกินไป
เรามักจะถูกสอนว่าควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ แล้วถ้าเราถือกระเป๋าหนักๆเหล่านั้นติดต่อกันนานหลายชั่วโมงก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายใช่ไหม? ผิดค่ะ การศึกษาพบว่าการถือกระเป๋าหนักสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ บางคนเรียกอาการนี้ว่า “Poshitis” ซึ่งตั้งชื่อตาม “Posh Spice” ฉายาของวิคตอเรีย เบคแฮมที่มักจะถือกระเป๋าใบใหญ่ๆอยู่เสมอ เอาล่ะมาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของคนเราหากเราสะพายกระเป๋าหนักเกินไปรวมถึงเคล็ดลับที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ในอนาคตด้วย
ความตึงเครียด
การถือกระเป๋าหนักย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายของเราอย่างแน่นอน แต่เมื่อพูดถึง “หนัก” กระเป๋าเหล่านี้ควรหนักแค่ไหนกัน? เราทดลองให้ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 21-55 ปีชั่งน้ำหนักกระเป๋าของตัวเองและพบว่าน้ำหนักของกระเป๋าอยู่ที่ระหว่าง 3.5-10 กิโลกรัมหรือเท่ากับน้ำหนักตัวของเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุหนึ่งปี ดังนั้นไม่แปลกหรอกถ้าคุณจะรู้สึกแสบร้อนผิวและตึงเครียดเมื่อต้องถือกระเป๋าหนักๆเป็นเวลานาน เมื่อคุณถือกระเป๋าหนักกล้ามเนื้อในกระดูกสันหลังจะกระจายน้ำหนักและทำให้หลังส่วนล่างของคุณมีแรงกดยิ่งกว่าเดิม ยิ่งน้ำหนักไม่สมดุลทุกส่วนที่อยู่ต่ำกว่าไหล่ก็ยิ่งทำงานหนักมากขึ้น
ปวดศีรษะ
เมื่อกล้ามเนื้อไหล่กับคอกระตุกก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณด้านหลังกะโหลกศีรษะซึ่งจะแผ่กระจายไปยังด้านหน้าด้วย แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่านี่คืออาการปวดศีรษะที่เกิดจากการถือกระเป๋าใบใหญ่? ง่ายๆคือถ้ากระเป๋าของคุณหนักกว่า 4.5 กิโลกรัมก็อาจเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ได้ แล้วถ้าคุณสังเกตว่าอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นแค่ฝั่งเดียวก็เป็นไปได้ว่าเกิดจากน้ำหนักของกระเป๋านั่นเอง
ท่าเดินผิดแปลกไปจากเดิม
ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งของการถือกระเป๋าหนักคือความสมดุลของร่างกายโดยรวม คุณอาจเดินผิดแปลกไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดหรือการเหวี่ยงแขนและขาไม่เป็นธรรมชาติขณะเดิน ขณะเดียวกันเครื่องแต่งกายบางชิ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของคนเราได้เช่นกัน เช่น รองเท้าส้นสูง เป็นต้น
กล้ามเนื้อไหล่และคอมีอาการตึง
กระเป๋าของเราสามารถทำให้กล้ามเนื้อทราพีเซียสที่อยู่ด้านบนช่วงไหล่ตึงและกระตุกได้ นอกจากนี้ยังอาจลามไปถึงต้นคอด้วยหรือที่เรียกว่า “คอตรงแข็ง” และยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นโรคข้ออักเสบบริเวณคอช่วงล่างได้เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักเป็นเวลานานเกินไป ขณะเดียวกันหากคุณมักจะคล้องกระเป๋าไว้ตรงข้อศอกน้ำหนักทั้งหมดของกระเป๋าก็จะกระจุกรวมกันอยู่ที่จุดเดียวซึ่งทำให้ส่งผลกระทบทั้งบริเวณต้นแขนและกล้ามเนื้อไหล่
สังเกตท่าทางของตัวเอง
วิธีแก้ปัญหาควรเริ่มจากกระเป๋าของคุณโดยการควบคุมน้ำหนักกระเป๋าไม่ให้เกิน 2.2-3.5 กิโลกรัม จากนั้นก็ส่องกระจกเวลาสะพายกระเป๋าหากการสะพายกระเป๋าทำให้คุณยืนตัวตรงไม่ได้งั้นก็แสดงว่ามีปัญหาแล้ว การสะพายกระเป๋าข้างหนึ่งและถือกระเป๋าอีกข้างหนึ่งเรียกว่า “แผนกายภาพบำบัด” หรือ “การใช้น้ำหนักที่เท่ากันทั้งสองข้างเพื่อสร้างความสมดุล” แต่ต้องระวังอย่าให้ทั้งสองข้างหนักเกินไปเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการตึงเครียดโดยรวมได้
เลือกกระเป๋าใบใหม่
บางครั้งวิธีแก้ปัญหาก็แค่ซื้อกระเป๋าใบใหม่ที่น่าจะดีต่อร่างกายเท่านั้นเอง กุญแจสำคัญคือควรเลือกกระเป๋าที่มีสายสะพายกว้างอย่างน้อย 2 นิ้วเนื่องจากจะช่วยกระจายน้ำหนักได้อย่างเท่าเทียมกันพร้อมกับปกป้องกล้ามเนื้อคอไปจนถึงกล้ามเนื้อแขนซึ่งเป็นบริเวณที่ค่อนข้างบอบบางและอาจบาดเจ็บจากการถือกระเป๋าหนักได้
หาเวลาบริหารกล้ามเนื้อ
หาเวลาบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้แข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักกระเป๋าใบใหญ่ของคุณ นอกจากกล้ามเนื้อหลังช่วงล่างกับหน้าท้องแล้วกล้ามเนื้อสะบักก็สำคัญไม่แพ้กัน คุณสามารถออกกำลังกายท่านี้ได้เมื่อสวมสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพโดยเริ่มจากแนบแขนไว้ข้างลำตัว งอข้อศอก 90 องศา หันฝ่ามือเข้าหากันและห่างกันเล็กน้อย ค่อยๆเคลื่อนมือทั้งสองข้างออกจากกันและบีบเกร็งกล้ามเนื้อสะบัก จากนั้นก็กลับสู่ท่าเริ่มต้น ควรทำทั้งหมด 2 เซ็ตๆละ 10 ครั้งทุกวันหรือวันเว้นวัน
ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายลงมาหน่อย
ทางที่ดีคุณควรทำความสะอาดกระเป๋าของตัวเองสัปดาห์ละครั้งและใช้ทุกช่องในกระเป๋าให้ครบเพื่อให้น้ำหนักภายในกระเป๋ากระจายโดยทั่วกัน ที่สำคัญควรเก็บเฉพาะของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน วิธีนี้จะทำให้คุณมีความเป็นระเบียบมากขึ้น
เครดิต: thelist.com
3,660 , 4