ความสำเร็จของ “ทิม คุก” คืออนุสรณ์ของ “สตีฟ จ็อบส์”

ความสำเร็จของ “ทิม คุก” คืออนุสรณ์ของ “สตีฟ จ็อบส์”

ความสำเร็จของ “ทิม คุก” คืออนุสรณ์ของ “สตีฟ จ็อบส์”

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก จนถึงตอนนี้ ทิม คุก (Tim Cook) รั้งตำแหน่งซีอีโอของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกเทคโนโลยีอย่าง แอปเปิล (Apple) นานถึง 10 ปีแล้ว

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งซีอีโอจาก สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) มาเป็น ทิม คุก เวลานั้นผู้สันทัดกรณีในโลกเทคโนโลยี ต่างรู้สึกเป็นกังวลในสถานการณ์ของ แอปเปิล เพราะนี่คือการสูญเสียครั้งสำคัญของแอปเปิล

แต่เอาเข้าจริงในอีก 10 ปีให้หลัง แอปเปิลภายใต้การดูแลของ ทิม คุก สถานการณ์ยังคงเป็น “ปกติ” ตรงกันข้ามแอปเปิลในยุค ทิม คุก กลับมีย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่และเติบโตยิ่งกว่ายุคของ สตีฟ จ็อบส์ เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี แฟนคลับแอปเปิล ในกลุ่มของ “ผู้ศรัทธา” ใน สตีฟ จ็อบส์ ดูจะไม่ให้เครดิต ทิม คุก มากนัก แม้ผลงานที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Apple Watch, Face ID, Apple Music รวมถึง Apple Arcade จะเป็นที่ประจักษ์ในวงการเทคโนโลยีก็ตาม

ชัชวนันท์ สันธิเดช

เพื่อหาคำตอบว่า ทิม คุก เป็นซีอีโอที่เก่งแค่ไหน ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ ชัชวนันท์ สันธิเดช ผู้แปลหนังสือ Tim Cook: The Genius Who Took Apple to the Next Level ของ Leander Kahney มาเป็นภาษาไทยในชื่อ Tim Cook อัจฉริยะผู้นำพาแอปเปิลสู่อนาคตใหม่

แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องนั้น สิ่งที่ผู้เขียนอยากทราบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การทำงานของ ทิม คุก ในฐานะซีอีโอแอปเปิล มุมมองของคนที่แปลหนังสือเล่มนี้ มีความคิดเห็นอย่างไร

ชัชวนันท์ ใช้ความคิดนิดหนึ่งก่อนที่จะตอบว่า การรับตำแหน่งซีอีโอของ ทิม คุก ต่อจาก สตีฟ จ็อบส์ ถือเป็นการรับไม้ต่อที่สวยงามมากครั้งหนึ่งในโลกธุรกิจ

เขายกตัวอย่างว่า เมื่อเทียบกับการลงจากตำแหน่งของ แจ็ค เวลซ์ อดีตซีอีโอของจีอี (General Electric: GE) หรือไมโครซอฟท์ในยุคของ บิล เกตส์ มาเป็น สตีฟ บอลเมอร์ ทั้งสองบริษัทก็ร่วง หรือแม้แต่ในโลกฟุตบอล ยักษ์ใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ไม่เคยเข้าใกล้จุดสูงสุดเหมือนเมื่อครั้งที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้จัดการทีม ที่เคยทำได้มาก่อนอีกเลย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็เปลี่ยนผู้จัดการทีมไปแล้วถึง 4 คน

“ขณะที่แอปเปิลตรงกันข้าม” ชัชวนันท์ อธิบาย “เมื่อจ็อบส์ลงจากตำแหน่งแล้ว เวลานั้นคนเชื่อว่าแอปเปิลแย่แน่ๆ และจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะไม่มีศาสดา ไม่มีชายที่ชื่อ สตีฟ จ็อบส์ แต่ทิม คุก กลับทำได้ดีมากๆ และดีกว่าที่ใครหลายคนคิดด้วยซ้ำ”

“ผมมีหลักฐาน” ชัชวนันท์ ย้ำ “ในช่วงที่ ทิม คุก รับตำแหน่งเป็นซีอีโอ มูลค่าตลาดของแอปเปิลประมาณแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2018 มูลค่าของแอปเปิลขึ้นมาอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบัน ปี 2021 มูลค่าเพิ่มจากนั้นอีกเท่าตัว ขึ้นมาอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผมเรียกสิ่งที่ ทิม คุก ทำมันเป็น ‘ความมหัศจรรย์’ และเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดมากที่สุดแล้วว่าแอปเปิลดียิ่งกว่าเก่าในยุคที่ ทิม คุก เข้ามาบริหาร”

ชัชวนันท์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดจะพบว่า มีตัวเลขที่ชี้ชัดถึงความสำเร็จของแอปเปิลในยุค ทิม คุก ได้อีก นั่นคือ ตัวเลขรายได้ของแอปเปิลที่ 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ประมาณ 2.5 เท่า

ขณะที่กำไรต่อหุ้นจากเดิม 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น ตอนนี้ 3.31 ดอลลาร์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้นประมาณ 3.3 เท่า นอกจากนี้ เงินสดที่เคยมีประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็พุ่งไปเกือบๆ จะ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ต่อมายอดขายของ iPhone ก็เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จากเมื่อ 10 ปีก่อน จนตอนนี้ iPhone กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1 ใน 4 ของสมาร์ทโฟนทั่วโลก มีส่วนแบ่งกำไรประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า แอปเปิลขาย iPhone แพงกว่าแบรนด์คู่แข่งอย่าง ซัมซุง (Samsung), หัวเว่ย (Huawei) รวมถึงออปโป้ (OPPO) เป็นต้น

“ทีนี้ ผมเชื่อว่าจะมีคนตั้งคำถามทันควันทันทีเลยว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ ‘สตีฟ จ็อบส์ วางรากฐานเอาไว้ไม่ใช่หรือไง’ คำตอบก็คือ เรื่องนี้มันมีเครื่องพิสูจน์”

ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล
ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล

ชัชวนันท์ ยกตัวอย่างว่า สินค้าจำพวก Apple Watch โดยตอนนี้มูลค่าธุรกิจเฉพาะของ Apple Watch เพียงอย่างเดียว ถือว่าใหญ่กว่า Rolex นอกจากนี้ Apple Watch ยังเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ สตีฟ จ็อบส์ ไม่ได้มีส่วนร่วม

“Apple Watch เกิดขึ้นในยุคของ ทิม คุก ล้วนๆ” นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทิม คุก สามารถนำเสนอสินค้าที่เป็นนวัตกรรมได้ และเป็นบุคคลสำคัญของแอปเปิลในยุคหลัง สตีฟ จ็อบส์

ที่น่าสนใจ ชัชวนันท์ย้ำด้วยว่า ผลิตภัณฑ์จำพวก Service Business เช่น iTunes, Apple Music และสารพัดซอฟต์แวร์ของแอปเปิล ทั้งหมดนี้ถ้า Spin-off ออกมาเป็นบริษัทใหม่ ณ วันนี้ สามารถเข้า Fortune 500 ได้แล้วด้วยซ้ำ

“ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันที่ สตีฟ จ็อบส์ ยังอยู่ ไม่มีใครเห็นภาพนี้เลย แต่ ทิม คุก ‘เห็น’ นั่นแสดงว่าตลอดระยะเวลาการเป็นซีอีโอของ ทิม คุก เขาได้สำแดงฝีมือออกมาให้ทุกคนได้เห็นแล้ว”

“ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ทิม คุก ก้าวออกจากเงาของ สตีฟ จ็อบส์ ไปตั้งนานแล้ว ด้วยหลักฐานที่ชัดเจนขนาดนี้” ชัชวนันท์ ยืนกราน

แอปเปิลกับการเปลี่ยนผ่านที่สำเร็จ

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

อย่างไรก็ดี มันมีคำถามที่น่าสนใจจากประเด็นในช่วงต้น เมื่อสโมสรยักษ์ใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านหลังการอำลาตำแหน่งของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่สำเร็จ

ไมโครซอฟท์ เปลี่ยนผ่านจาก บิล เกตส์ มาเป็น สตีฟ บอลเมอร์ แล้วล้มเหลว (กระทั่งมาสำเร็จในยุค สัตยา นาเดลลา) แต่ทำไม Apple จึงเปลี่ยนผ่านจากจ็อบส์ไปคุกได้อย่างราบรื่น?

“ผมคิดว่าถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติของ ทิม คุก จะเห็นได้ว่า เขาทำงานกับ สตีฟ จ็อบส์ มาอย่างยาวนาน ผมให้นิยามว่า คุกเป็น Operation Man กล่าวคือ เขาเป็นคนฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งผมมองว่า จ็อบส์ คงเห็นแววอะไรสักอย่างใน ทิม คุก” ชัชวนันท์ กล่าวต่อไปว่า “จริงอยู่ว่า ทิม คุก อาจจะไม่ใช่ผู้ริเริ่มสิ่งใหม่เหมือนจ็อบส์ แต่เขาเป็นนักปฏิบัติงาน และเป็นนักบริหารอย่างแท้จริง”

สิ่งสำคัญที่สุดที่เห็นได้ชัดจากการทำงานของ ทิม คุก เนื่องจาก ทิม คุก เป็นคนที่มี Work ethic (ให้ความสำคัญกับงาน) สูงมาก ทำงานตั้งแต่ตี 4 โดยเริ่มจากตอบอีเมล จากนั้นก็จะหายไปสักชั่วโมงกว่าๆ เพื่อออกกำลังกายในยิม ระหว่างรับประทานอาหารเช้าก็จะตอบเมลไปด้วย ซึ่งลักษณะการทำงานของ ทิม คุก เป็นการทำงานของนักบริหารมืออาชีพ

“ต้องย้อนตรงนี้สักนิดหนึ่ง ในสมัยที่ สตีฟ จ็อบส์ ยังเป็นซีอีโอ ภายในบริษัทแอปเปิลมีการเมืองภายในเยอะมาก คนที่เป็นเด็กในคาถาของจ็อบส์จะวางก้าม ถือตัวว่าตัวเองสนิทกับนายใหญ่ จึงคิดว่าตัวเองเหนือกว่า เพราะกุมความลับด้านนวัตกรรมในบริษัทเยอะ ทำให้องค์กรอยู่ในลักษณะของการทำงานที่ไม่มีใครวางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งอดีตพนักงานแอปเปิลหลายคนเคยพูดว่า ‘แอปเปิลเป็นบริษัทที่ไม่น่าทำงานด้วย’ แล้วก็เป็นทิม คุก ที่เข้ามาสลายการเมืองภายใน จนแอปเปิลกลายเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ”

อีกอย่างหนึ่งที่ชัชวนันท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ทิม คุก คือ เขาพยายามสร้างบรรยากาศการทำงานให้ทุกฝ่ายเป็นมิตรกันหมด ฝั่งผู้คิดค้นนวัตกรรมก็ไม่ได้ถือตัวว่าตัวเองเป็นคนสร้าง iPhone หรือ iPad อีกต่อไปแล้ว รวมถึงบุคลิกของ ทิม คุก ที่ค่อนข้างนุ่มนวล แต่เนี้ยบ และมีความแน่วแน่ ซึ่งความเนี้ยบของ ทิม คุก ไม่ได้อยู่แค่ผลิตภัณฑ์เหมือนสตีฟ จ็อบส์ แต่เขาเนี้ยบจนถึงขั้นทำให้ซัพพลายเชนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่เกิดปัญหาที่ร้ายแรงจนสร้างความเสียหายต่อแอปเปิล

“มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการประชุมในแอปเปิล เรื่องนี้อยู่ในหนังสือที่ผมแปล วันนั้นแอปเปิลกำลังมีปัญหาเรื่องซัพพลายในประเทศจีน คุยไปคุยมา ผู้บริหารอีกคนที่นั่งอยู่กับ ทิม คุก ซึ่งไม่เปิดเผยนาม เพราะเปิดเผยไม่ได้ โดยหลังจากที่รู้แล้วว่าเกิดปัญหาต้องไปที่เมืองจีน ทิม คุก หันมาที่เขาพร้อมกับบอกว่า ‘แล้วคุณนั่งทำอะไรอยู่’ พอได้ยินคำนี้ ผู้บริหารคนดังกล่าวต้องดิ่งตรงไปสนามบิน ชนิดที่ไม่ต้องเก็บเสื้อผ้าด้วยซ้ำ นี่คือความเป็นนักบริหารในแบบฉบับของ ทิม คุก”

นี่คือเหตุผลที่ชัดเจนมากๆ ว่าทำไม ทิม คุก ถึงเอาองค์กรอย่างแอปเปิลได้อยู่หมัด

ทั้งนี้ สไตล์การทำงานของ ทิม คุก ถ้าให้วิเคราะห์ออกมา จะเห็นได้ว่า ทิม คุก มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ก็มีความเด็ดขาด ซึ่งถ้าเป็น สตีฟ จ็อบส์ จะเทไปในด้านของความเด็ดขาด

“คำในภาษาไทยก็คงประมาณว่า ทิม คุก มีทั้งพระเดชและพระคุณ”

สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล
สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล

ส่วนลักษณะการทำงานของ สตีฟ จ็อบส์ จะตรงกันข้าม เขาเป็นคนทำงานแบบ (นิคโคโล) มาเคียเวลลี ซึ่งเป็นนักปรัชญา นักเขียน และนักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลี โดยเขาเป็นคนที่เอาแต่ใจ เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่แคร์คนรอบข้าง อีโก้สูง และไม่มีด้านของความละเอียดอ่อนเอาเสียเลย

นอกจากนี้ ในยุคที่ สตีฟ จ็อบส์ เป็นซีอีโอ คิดว่ายังคงจำกันได้ แอปเปิล ถูกโจมตีอย่างหนัก ทั้งในเรื่องของการไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานก็ไม่มี

เมื่อเทียบการทำงานระหว่าง ทิม คุก และ สตีฟ จ็อบส์ ในความเห็นของชัชวนันท์ ประเมินว่า ถ้าดูในรายละเอียด ทิม คุก เป็นคนที่ใส่ใจกับคนอื่น โดยไม่ได้ดูแลเอาใจใส่เฉพาะคนขององค์กรตัวเองเท่านั้น แต่รวมไปถึงการทำให้แอปเปิลเป็นที่รักของชาวโลกมากขึ้น

“ประเด็นเรื่องของสิทธิแรงงานชัดเจนมาก เมื่อก่อนโรงงาน Foxconn มีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายบ่อยมาก สภาพเหมือนการใช้แรงงานทาส แต่พอ ทิม คุก เข้ามาเน้นตรงนี้ มีการออกกฎชัดเจนว่า โรงงานที่จะเป็นซัพพลายให้แอปเปิลต้องมีมาตรฐานอะไรบ้าง ถ้าไม่มีก็โบกมือลา ไม่ต้องมาทำงานร่วมกัน รวมถึงการสนับสนุนเรื่องของความหลากหลาย ทั้งเพศ และสีผิว ให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใหญ่โตในบริษัทได้ ไม่จำกัดแค่คนผิวขาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเห็นนักในยุคของ สตีฟ จ็อบส์”

ดังนั้นแล้ว ส่วนตัวของชัชวนันท์ จึงชื่นชอบในตัวของ ทิม คุก มากกว่า สตีฟ จ็อบส์

ทิม คุก กับเครดิตที่น้อยเกินกว่าที่ควรจะได้รับ

ทิม คุก ชายที่สืบทอดตำนานของสตีฟ จ็อบส์
ทิม คุก ชายที่สืบทอดตำนานของสตีฟ จ็อบส์

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่การเข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอของ ทิม คุก ว่ากันตามตรง ทิม คุก ถือเป็นซีอีโอของบริษัทระดับโลกที่ดูเหมือนว่าจะได้รับเครดิตที่น้อยมาก

ชัชวนันท์ อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า เพราะแอปเปิล เป็นบริษัทที่ สตีฟ จ็อบส์ (ร่วมกับสตีฟ วอซเนียก และโรนัลด์ เวย์น) สร้างขึ้นมา อีกทั้งลักษณะของ สตีฟ จ็อบส์ มีความเป็นศิลปินเดี่ยว เป็นคนที่มีออร่า มีลักษณะพิเศษ จึงทำให้เขาเป็นทุกอย่างของแอปเปิล

ที่น่าสนใจคือ การรับไม้ต่อต่างหากที่เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์จากจ็อบส์ไปคุก มันไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหาร แต่เป็นการก้าวตามรอยเท้าของคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นศาสดาของคนจำนวนมากบนโลกนี้ เรื่องนี้ยากมากๆ

“ไม่ว่า ทิม คุก จะทำดีแค่ไหนก็ตาม ทิม คุก ก็จะถูกมองเป็นพระรองเสมอๆ” ชัชวนันท์ ยกตัวอย่าง “ตอนนั้นผมเคยเอาหนังสือทิม คุก เล่มนี้โปรโมตในเพจคลับวีไอ (ซึ่งเป็นเพจส่วนตัวของชัชวนันท์) ปรากฏว่ามีคนมาคอมเมนต์ว่า ‘ถ้าไม่มีจ็อบส์ก็ไม่มีวันนี้หรอก’ บางคนก็ใช้คำแรงกว่านั้น”

นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ภาพของ สตีฟ จ็อบส์ มันผูกติดแน่นทนนานกับสาวกแอปเปิลจนสลัดไม่หลุด อย่างไรก็ดี ชัชวนันท์ เสนอว่า อยากให้สาวกสตีฟ จ็อบส์ เปิดใจ ลองศึกษา และไม่ต้องกลัวว่า ทิม คุก จะมาแย่งเครดิตใดๆ จากสตีฟ จ็อบส์

ชัชวนันท์ สันธิเดช ผู้แปลหนังสือ Tim Cook: The Genius Who Took Apple to the Next Level
ชัชวนันท์ สันธิเดช ผู้แปลหนังสือ Tim Cook: The Genius Who Took Apple to the Next Level

“ผมอยากบอกแบบนี้ว่า ทุกครั้งที่คุณมอง ทิม คุก ทุกครั้งที่คุณมองเห็นความสำเร็จของแอปเปิล มันคือความสำเร็จของ สตีฟ จ็อบส์ด้วย ต้องไม่ลืมนะครับว่า จ็อบส์ เป็นคนเลือก ทิม คุก มากับมือ และนี่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ สตีฟ จ็อบส์ ที่เขาได้ฝากไว้”

ดังนั้นแล้ว ถ้าไม่เชื่อในฝีมือ ทิม คุก ดูแคลน ทิม คุก แปลว่าคุณกำลังจะบอกว่า สตีฟ จ็อบส์ “ห่วย” ที่เลือกคนไม่เก่งมาทำงาน ไม่ใช่หรือ

“แต่ก็นั่นแหละในความเห็นผมคิดว่าไม่ต้องไปเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่ากัน แต่มันคือการสืบสานมรดกจากคนที่เก่งมากๆ ไปยังคนเก่งอีกคนหนึ่ง” ชัชวนันท์ กล่าว

ประโยคสุดคลาสสิก ถ้าจ็อบส์ยังอยู่

ทุกๆ ครั้งที่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ๆ ของแอปเปิล หรือผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม แล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีผลตอบรับที่ไม่ดีนัก ประโยคแรกๆ ที่ลอยละล่องออกมาให้ได้ยินอยู่เสมอ นั่นคือประโยคที่มีชื่อว่า ถ้าสตีฟ จ็อบส์ ยังอยู่ จะ…(เติมเครื่องหมายในช่องว่างตามที่คุณเคยได้ยิน)

ประเด็นนี้ ชัชวนันท์ มองตรงกันข้าม เขาเชื่อว่า ถ้าหากวันนี้ สตีฟ จ็อบส์ ยังอยู่ สถานการณ์ของแอปเปิลน่าจะดีน้อยกว่า หรือดีเท่ากับวันนี้

“ผมคิดว่าจ็อบส์เป็นคนที่ทำให้แอปเปิลยิ่งใหญ่ หลังถูกไล่ออกจากบริษัท แล้วมาทำแอปเปิลให้เป็นแอปเปิลอย่างทุกวันนี้ แต่ ทิม คุก เป็นคนที่ทำให้แอปเปิลมั่นคงและยั่งยืน” ชัชวนันท์ ย้ำ “นี่คือความแตกต่างของสองคนนี้”

ผู้สืบทอดของทิม คุก?

นับจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ ทิม คุก นั่งแท่นบริหารแอปเปิล แล้วก็เป็นการบริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด แต่ในท้ายที่สุดแล้วทุกงานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกรา ทิม คุก ก็อาจโบกมือลาจากตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่นี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นมา ใครจะเป็นผู้สืบทอดของทิม คุก

“ในมุมมองผมนะ ทิม คุก เป็นคนที่แข็งแรงมากๆ เขาดูแลสุขภาพร่างกายอย่างดีเยี่ยม ก็น่าจะเป็นซีอีโอต่อไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 75 ปี แล้วค่อยรีไทร์ตัวเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า เขาจะนั่งบนเก้าอี้ซีอีโออย่างเดียวถึง 25 ปีเลยนะ แต่ก็นั่นแหละ ทั้งหมดนี้เป็นแค่การคาดเดาของผม”

ที่จริงแล้วก็เป็นไปได้ เพราะในโลกธุรกิจ มีซีอีโอคนดังจำนวนมาก แม้อายุจะเยอะแล้ว แต่ก็ยังทำงานอย่างแข็งขันต่อเนื่องทุกวัน เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์

แต่คนที่จะมาเป็นตัวแทนของ ทิม คุก เพื่อสานต่อให้อาณาจักรของแอปเปิลยังคงยิ่งใหญ่ต่อไป แล้วใครจะมาเป็นตัวแทนคนถัดไปของ ทิม คุก

ทิม คุก ชายที่สลายขั้วทางการเมืองภายในของแอปเปิล
ทิม คุก ชายที่สลายขั้วทางการเมืองภายในของแอปเปิล

“ย้อนกลับไปในสมัย สตีฟ จ็อบส์ ทุกคนเป็นห่วงว่าสถานการณ์ของแอปเปิลจะเป็นยังไง มันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้วใช่หรือไม่ แต่สมัยยุคหลังของ ทิม คุก ผมเชื่อว่ามันไม่น่าเป็นห่วงอีกแล้ว เพราะสิ่งที่ ทิม คุก ทำตลอดช่วงที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอตลอด 10 ปีที่ผ่านมา งานของ ทิม คุก คืองานที่ทำให้แอปเปิลมั่นคงและยั่งยืน”

ดังนั้นถ้าถามว่า ความสำเร็จของ ทิม คุก คืออะไร คำตอบนี้ตอบได้อย่างง่ายดาย “มันคือการทำให้แอปเปิลกลายเป็นบริษัทที่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่า ‘ใคร’ จะมาเป็นซีอีโอคนถัดไปแทน ทิม คุก” ชัชวนันท์ กล่าวปิดท้าย.

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Sathit Chuephanngam

source: thairath

 2,940 ,  3 

No Comments Yet

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

Siam Scope Magazine